ลำปางเมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา

ลำปาง#เมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา#เมืองต้องห้ามพลาด #เมืองที่ทีมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง #เมืองที่มีตลาดเก่าแก่ "ตลาดร้อยปีเก๊าจาว" #ความคึกคักและความเป็นมาของสถานีรถไฟ รางรถไฟ ที่สร้างจากกรุงเทพฯ มาถึงสถานีลำปางเมื่อปี 2459 สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นเวลาหนึ่งทศวรรษที่ลำปางเป็นปลายทางรถไฟสายเหนือ และอีกสิบปี ต่อมา รถไฟจึงมีเส้นทางลอดอุโมงค์ขุนตานผ่านสะพานขาวทาชมภูไปถึงเชียงใหม่ ลำปางมีอะไรที่ดีๆกว่านี้อีกเยอะ แต่จะมีใครที่รู้ลึกและรู้ว่าลำปางมีดีอะไร #ลำปางไม่ใช่เมืองผ่าน... ลำปางเป็นเมืองเก่าแก่มีประวัติศาสตร์กว่า 1,300 ปี เป็นเมืองแฝดกับเมืองลำพูนหรือเมืองหริภุญชัย #ลำปาง-ลำพูนจัดเป็นสองเมืองเหนือที่มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี #คนพื้นเมืองลำปางส่วนใหญ่ในสมัยนั้นเป็นคนลั๊วะ มอญ และกะเหรี่ยง หรืออาจจะมีไทยวน หรือ ไทโยนและต่อมาเรียกตนเองใหม่ว่า "คนเมือง" อันเป็นคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เริ่มแทรกเข้ามาอยู่บ้างแล้ว #ลำปางเมือเก่าแก่ยิ่งกว่าอาณาจักรล้านนา เก่ากว่าเชียงใหม่ ราชธานีแห่งล้านนา ซึ่งสร้างขึ้นโดยพญามังรายถึงหกร้อยปี #ล้านนาเป็นอาณาจักรของคน"ไท ยวน" หรือ "ไทโยน" อยู่ร่วมสมัยกับสุโขทัยของพ่อขุนรามคำแหง ผงาดอำนาจขึ้นมาแทนอาณาจักรหริภุญไชยอันมีลำพูนและลำปางเป็นเมืองสำคัญ เมื่อพญามังรายนำทัพจากเมืองเชียงรายและเงินยาง-เชียงแสนเข้ามายึดครองแคว้นหริภุญชัยได้เมื่อกว่า 700 ปีมาแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่ของภาคเหนือในตอนบน น่าจะเป็น"ไท ยวน"หรือ"ไทโยน" #ลำปางได้กลายจาก "เมืองของมอญ" (คือมอญแห่งหริภุญชัย ซึ่งเป็นคนละพวกกับมอญทางภาคกลางของไทย คือ มอญทวาราวดี) เป็น "เมืองของไท" #พญากาวิละ เป็นคนลำปางต่างหาก มีน้อยคนที่รู้ว่าไม่ใช่คนเชียงใหม่ #พญากาวิละเป็นผู้นำล้านนาให้ออกจากการปกครองของพม่าไปสู่วงแขนของกรุงรัตนโกสินทร์ #แต่เดิมล้านนา ปกครองตนเองจากยุคพญามังรายมาตลอดจนกระทั่งเสียเมืองให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง ใกล้เคียงกับเวลาที่อยุธยาเสียเมืองให้พระเจ้าสิบทิศพระองค์นี้ จากนั้นมาล้านนาก็ตกอยู่ใต้การปกครองของพม่ามากว่าสองร้อยปี จนถึงปี 2317 เจ้านครลำปาง นาม พญากาวิละแห่งราชวงศ์"ทิพย์จักร" ได้นำทัพจากลำปางไปร่วมกับพญาจ่าบ้านเจ้าเมืองเชียงใหม่ เป็นขบถต่อพม่าและสวามิภักดิ์ต่อกรุงรัตนโกสินทร์ มีความดีความชอบในการสงครามกับพม่าหลายต่อหลายครั้ง ในที่สุดพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ทรงสถาปนาราชวงศ์ทิพย์จักร ขึ้นปกครองล้านนา #ลำปางในประวัติศาสตร์ล้านนาที่ยาวนานยิ่งกว่าอยุธยาเสียอีกนั้น ปรากฏกษัตริย์ปกครองอยู่เพียง 2 ราชวงศ์เท่านั้น คือราชวงศ์มังรายปกครองกว่า 300 ปี และราชวงศ์ทิพย์จักรปกครองอยู่ราว 150 ปี #ต้นราชวงศ์ทิพย์จักรคือคนลำปาง เจ้าปู่ของพญากาวิละก็คือ "ทิพย์ช้าง" เดิมท่านเป็นพรานช้างอยู่ที่ ปงยางคก ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งของ อ.ห้างฉัตรในปัจจุบันนี้เอง และพญากาวิละ ผู้ห้าวหาญ รบเคียงคู่กับพระเจ้าตาก กับรัชกาลที่หนึ่ง และกรมพระราชวังบวรฯ วังหน้า ก่อนจะรับโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ก็คือ เจ้าผู้ครองลำปางมาก่อนนี่เอง กล่าวได้ไม่ผิดว่า ล้านนาในยุคหลังที่มารวมกับรัตนโกสินทร์สำเร็จนั้น เป็นล้านนาที่นำโดยวีรชนคนกล้าจากลำปาง #ลำปางเจริญรุ่งเรืองและมีความหลากหลายทางชาติพันธ์มากในยุคตัดไม้สักส่งขายฝรั่ง หรือ ยุค "กึ่งอาณานิคม" ตรงกับรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 7 โดยเฉพาะในช่วงปี 2459 ถึง ปี 2469 นับสิบปี ที่ทางรถไฟจากกรุงเทพฯ มาหยุดปลายทางที่ อ.เมือง จ.ลำปาง ในระหว่างที่ทางรถไฟยังขึ้นไปไม่ถึงเชียงใหม่ #ลำปางเป็นเมืองการค้าที่สำคัญที่สุดของล้านนาก็ว่าได้ ในยุคนั้นลำปางเฟื่องฟุ้งรุ่งเรือง อาศัยแม่นำ้วังและการเป็นศูนย์กลางทางรถไฟของภาคเหนือ ขาย ฝิ่น ข้าว ไม้สัก ให้แก่กรุงเทพฯและทั่วประเทศหรือให้แก่ต่างประเทศ ถือเป็นยุคทองของเมืองลำปางในสมัยนั้น #สิ่งปรากฎให้เห็นนอกจากจะมีสถานีรถไฟแล้ว ยังมี “ขัวหลวงรัษฎา” หรือ สะพานรัษฎาภิเศก อายุ 101 ปี 1 ในแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาลำปาง...เมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา ที่มีประวัติศาสตร์และความเป็นมาอย่างน่าอัศจรรย์และคงเอกลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของสะพาน ตราสัญลักษณ์ไก่ขาว หรือครุฑแดงที่คงอยู่สะพานที่รอดพ้นจากการโจมตีของฝ่ายพันธมิตรในครั้งสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ทาสีขาวโดดเด่นสะดุดตา ด้วยรูปทรงโค้งคันธนู รวม 4 โค้ง ตั้งขวางเต็มลำน้ำวัง ทั้งยังมีสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงความเป็นมา อยู่หลายประการ อาทิ “เสาสี่ต้น” ที่ตั้งอยู่ตรงหัวสะพานฝั่งละสองต้น เปรียบดังความมั่นคงแข็งแรงและสง่างาม , “พวงมาลายอดเสา” บนยอดเสาทั้งสี่ด้านของเสาทั้งสี่ต้น เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิการของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 “ครุฑหลวงสีแดง” ประดับอยู่กลางเสาด้านหน้าทุกต้น ทั้งสองฝั่งหัวสะพาน บ่งบอกถึงตราสัญลักษณ์แห่งแผ่นดินสยาม สมัยรัชกาลที่ 6 “ไก่หลวง” หรือ “ไก่ขาว” ที่ประดับตรงกลางเสาด้านข้างทุกต้น ทั้งสองฝั่งหัวสะพาน คือสัญลักษณ์ประจำนครลำปาง สื่อถึงสมัยเจ้าบุญวาทย์ วงษ์มานิต , คำว่า “มีนาคม 2460” กลางเสาด้านในทุกต้น ทั้งสองฝั่งหัวสะพาน บอกถึงวันที่สะพานแล้วเสร็จ และคำว่า “สะพานรัษฎาภิเศก” ตรงกลางคานเชื่อมโค้งสะพานคู่แรกทั้งสองฝั่งหัวสะพาน บ่งบอกถึงการได้รับพระราชทานนาม #บ้านไม้สักอันเก่าแก่ลือชื่อของเศรษฐีไม้สักชื่อนายหลุยส์ บุตรชายของ แอนนา เลียวโนเวนส์ สตรีผู้ถวายการสอนภาษาอังกฤษให้แด่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ที่คนไทยรู้จักดีผ่านหนังฝรั่งเรื่อง"คิงแอนด์ไอ" ก็ตั้งอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้ยังไปดูได้ #บ้าน"เสานัก" อันมีเสาไม้สักงามรองพื้นบ้านอยู่นับร้อยต้น ของคหบดีชาวพม่าผู้เข้ามาช่วยฝรั่งตัดไม้จนร่ำรวยก็อยู่ที่นี่ บริษัทตัดไม้ของฝรั่งเคยตั้งอยู่ที่ลำปางถึงสี่บริษัท ลำปางยุคนั้นมีบริษัทหรือร้านค้าของฝรั่ง แขก พม่า จีน ไทย หลายแห่งมาก #ป้ายยี่ห้อร้านโบราณที่เก็บจากยุคนั้น ปรากฏว่าเขียนด้วยภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาพม่า และภาษาไทล้านนา รวมแล้วป้ายแผ่นเดียวนั้น เขียนขึ้นด้วยห้าภาษา #ในยุคตัดไม้"ส่งใต้" ชาวพม่าและไทใหญ่จากรัฐฉานก็ตามฝรั่งเข้ามาทำงานและพำนักหรือตั้งครอบครัวอยู่ทั่วลำปาง รวมทั้งได้สร้างวัดสไตล์พม่า-ไทใหญ่ ที่เหลือมาถึงทุกวันนี้กว่า 20 วัด #ไปเที่ยวลำปางทุกวันนี้ อย่าลืมไปไหว้ไปดูวัดพม่าสวยงามแปลกตา ดูเหมือนเข้าวัดสวยๆในเมืองพม่าเลยทีเดียว #ในอดีต ลำปางยังเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลอังกฤษไปตั้ง #เป็นที่ตั้งของแบงค์สยามกัมมาจล เมื่อปี 2473 นับเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ลำปาง ณ บริเวณถนนฉัตรไชย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสาขาต่างจังหวัดที่เก่าที่สุดของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ #ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้จัดการไทยคนแรกถึงแปดปีในช่วงปี 2479-2487 อาจารย์คึกฤทธิ์ของสยามรัฐ อาจารย์ใหญ่ของชาวธรรมศาสตร์ ผู้เขียน "สี่แผ่นดิน" และอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศผู้นี้แต่งงานอยู่กินกับคุณหญิงพักตร์พริ้งที่ธนาคารอันเป็นบ้านพักมีลูกด้วยกัน 2 คน #ลำปาง มีอะไรดีๆที่น่าค้นหาอีกเยอะ...อย่าลืมแวะมาเยือนซักครั้งนะคะ... ตอนต่อไปพบกับลำพูน#เมืองต้องห้ามพลาดพลัส

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิถีชีวิตชาวตรัง ..ที่ไม่เคยห่างหาย