มาลำปาง รับรองไม่ลำพังแล้วอดไม่ได้
วันนี้คุณนายเวิ่นเว้อขอนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวในเมืองที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวเองได้ เริ่มต้นจากใจกลางเมือง คือ ห้าแยกหอนาฬิกา หรือคนลำปางเรียกว่าข่วงนคร เป็นจุดแลนด์มาร์ค ที่ผ่านไปมาแล้วอดที่จะต้องแวะถ่ายภาพไม่ได้ สมกับสโลแกนที่ว่าลำปาง "เมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา" ก่อนที่จะเดินทางต่อไปสักการะศาลหลักเมืองลำปาง และพระพุทธนิรโรคันทรายชัยวัฒน์จนุรทิศ พระคู่บ้านคู่เมืองทางเหนือ ก่อนที่จะไปถ่ายรูปคู่สะพานประวัติศาสตร์เมืองลำปาง สะพานรัษฎาภิเศก หรือ สะพานขาว ตั้งอยู่ที่ถนนรัษฎา อำเภอเมือง เจ้าผู้ครองนครเป็นผู้ที่ตั้งชื่อจากพิธีเฉลิมฉลองรัษฎาภิเษกสมัยรัชกาลที่ 5 สะพานรัษฎาเป็นสะพานร่วมสมัยกับยุคอารยธรรมรถไฟมีอายุผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 มาแล้ว และรอดพ้นจากการโจมตีทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรมาได้ด้วยการทาสีสีดำพรางตา และด้วยการอ้างว่าสะพานแห่งนี้ไม่มีประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของนางลูซี สคาร์ลิง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวิชานารี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกองทัพสัมพันธมิตรในขณะนั้น
แต่เดิมสะพานรัษฎาภิเศกเป็นสะพานไม้เสริมเหล็กชำรุดผุพัง จึงมีการก่อสร้างใหม่เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2460 เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความคงทนมากกว่าสะพานรุ่นเดียวกันที่ไม่เหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน ที่บริเวณสะพานมีเครื่องหมายไก่ขาวและครุฑหลวงสีแดงประดับไว้ตรงหัวสะพาน หลังจากแวะแช๊ะ และแชร์จนหนำใจแล้ว หากท้องร้องบริเวณหัวสะพานจะมีร้านก๋วยเตียวรุ่นที่สองให้ได้ลิ้มลองทั้งบะหมี่แห้ง บะหมี่น้ำและข้าวซอย เพื่อเพิ่มพลังก่อนที่จะไปยังจุดต่อไป ข้ามสะพานไปชมวัดปงสนุก ถือเป็นวัดศูนย์กลางเมืองเขลางค์ยุคที่ ๒ ในสมัยล้านนา หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงวัดปงสนุก ย้อนไปถึงปี พ.ศ. ๑๙๒๙ ในขณะนั้นใช้ชื่อว่า "วัดเชียงภูมิ” เป็นสถานที่ที่หมื่นโลกนคร ผู้รักษาเมืองเขลางค์ใช้ตั้งรับทัพอยุธยาที่ยกขึ้นมาตีล้านนา ต่อมาอีก ๔๐๐ ปี วัดแห่งนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดปงสนุก” โดยมีการแบ่งเป็นด้านเหนือและด้านใต้ ดังหลักฐานจากคัมภีร์ใบลานของวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน กล่าวถึงการฉลอง "วัดปงสนุกใต้” ในปี พ.ศ. ๒๓๕๒ และในปี พ.ศ. ๒๔๐๒ จากบันทึกของครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนีอดีตพระราชาคณะหัวเมืองได้กล่าวถึงการบูรณะภูเขาจำลอง วัดปงสนุกเหนือ หลังจากนั้นอี ๒๗ ปี คือปี พ.ศ. ๒๔๒๙ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดปงสนุกครั้งใหญ่ โดยทำการซ่อมพระเจดีย์ สร้างฉัตร ก่อซุ้มประตูโขง วิหารหลังมียอดหรือวิหารพระเจ้าพันองค์และจัดฉลอง โดยนิมนต์พระสงฆ์มารับไทยทานกว่า ๓๐๐ รูป
จากหลักฐานที่พบได้กล่าวถึงชื่อเดิมของวัดปงสนุกถึง ๔ ชื่อในเวลาที่แตกต่างกัน ได้แก่ วัดศรีจอมไคล, วัดเชียงภูมิ, วัดดอนแก้ว, วัดพะยาว (พะเยา) สำหรับชื่อปงสนุกเป็นชื่อล่าสุดที่พบหลักฐาน อย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๕๒ เมือเกือบ ๒๐๐ ปีที่ผ่านมาชื่อวัดพะยาว (พะเยา) และวัดปงสนุกเป็นชื่อที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การอพยพผู้คนในเหตุการณ์ช่วงปี พ.ศ. ๒๓๔๖ ที่พญากาวิละได้ยกทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นที่ตั้งมั่นของพม่าและได้กวาดต้อนชาวเชียงแสน ซึ่งมีชาวบ้านปงสนุกลงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เมืองลำปาง รวมไปถึงมีการอพยพคนเมืองพะยาว (พะเยา) หนีศึกพม่าลงมายังเมืองลำปางชาวปงสนุกเชียงแสนและชาวพะเยาได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำวังแถบบริเวณวัดเชียงภูมิ โดยนำชื่อหมู่บ้านเดิมมาเรียกขานชุมชนแห่งใหม่ ต่อมาราว พ.ศ. ๒๓๘๖ เจ้าหลวมหาวงศ์ได้ไปฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นใหม่ ครูบาอินทจักรพระอุปัชฌาย์ของครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนีได้ชาวพะยาว (พะเยา) อพยบกลับคืนสู่บ้านเกิด คงเหลือเพียงพวกที่ไม่ยอมกลับและมารวมอยู่กับชาวบ้านปงสนุก ชื่อวัดและชื่อหมู่บ้านจึงเหลือเพียงชื่อปงสนุกตราบเท่าทุกวันนี้
ผู้อาวุโสในชุมชนเล่าว่าวัดปงสนุกตั้งอยู่ติดกำแพงเมืองเขลางค์ด้านในเป็นแนวคันดินและมีคูล้อมรอบอีกชั้น คูเมืองด้านหลังวัดมีความลึกมากและเต็มไปด้วยกอบัว และนอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมในการขุดดินไปถมที่วัดบนที่ตั้งของวิหารพระเจ้าพันองค์ ด้วยเชื่อว่าหากไม่ขุดดินไปให้วัดบนน้ำจะท่วมบ้าน ซึ่งตรงกับการขุดค้นทางโบราณคดีบนม่อนดอยในเดือนพฤษภาคมปี ๒๕๕๑ ที่พบชั้นของทรายที่นำมาจากแม่น้ำ ถมอยู่ภายใต้พื้นซีเมนต์บนลานพระธาตุลึกลงไปในราว ๓๐ เซนติเมตร แต่เมื่อขุดลึกลงไปกว่านั้นกลับพบว่าเป็นชั้นของอิฐที่เรียงสลับกันลงไปกว่า ๗ เมตร ซึ่งเป็นการเปิดเผยเทคนิคการสร้างม่อนดอยด้วยอิฐของวัฒนธรรมล้านนาเป็นแห่งแรกของประเทศ ที่ด้านหน้าของวัดมีบึงน้ำขนาดใหญ่อยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำวังมากนัก และเป็นที่ตั้งของคุ้มเจ้าราชวงศ์ และเจ้าแม่สุข ณ ลำปาง ในปัจจุบันที่ด้านหน้าวัดปงสนุกใต้มีสิ่งสำคัญคือต้นฉำฉาขนาดใหญ่ที่มีอายุเกือบ ๑๕๐ ปี ซึ่งเรื่องเล่าว่า ครูบาธรรมชัยได้ธุดงค์ไปปักกลดใต้ต้นฉำฉาที่เชียงตุงในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ และได้เก็บฝักมาเพาะเป็นต้นแล้วปลูกไว้ข้างหนองน้ำใหญ่หน้าวัด แม้ว่าปัจจุบันสระน้ำดังกล่าวได้ถูกถมไปจนหมดสิ้นเหลือเพียงต้นฉำฉาที่เติบโตให้ร่มเงาแก่ชาวบ้านมาเป็นเวลานาน
ความรุ่งเรืองของวัดปงสนุกยังปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้วัดเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น เจดีย์ วิหารพระนอน และ "วิหารพระเจ้าพันองค์” วิหารโถงทรงจัตุรมุขที่มีอายุกว่า ๑๒๐ ปี ซึ่งมีรูปแบบงดงาม และเป็นแม่แบบให้อาคารหลังอื่นในประเทศไทย เช่น หอคำไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันวัดปงสนุกยังเป็นแหล่งรวมศิลปวัตถุอีนานัปการ ทั้งพระพุทธรูปไม้ ซึ่งพบภายในห้องใต้หลังคาของวิหารพระเจ้าพันองค์, ภาพพระบฎเขียนเรื่องพระเวสสันดรบนผ้าและกระดาษสา ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๒๐ ปี, หีบธรรมโบราณ และธงช้างเผือกขนาดใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งได้จัดแสดงงานที่พิพิธภัณฑ์หีบธรรมรัตนานุรักษ์อนุสรณ์ และพิพิธภัณฑ์หีบธรรมของวัดปงสนุก (ด้านเหนือ) จนแดดร่มลมตก ยามเย็นเสาร์ อาทิตย์ กาดกองต้า…
กาดแลงเสาร์-อาทิตย์...สนุกกับการตะลุย ชม ชิม ช้อป & แชร์ @กาดกองต้า ถนนคนเดินแห่งนครลำปาง
“กาด-กอง-ต้า” เป็นคำล้านนา แปลตามตัวคือ ตลาด-ถนน-ท่าน้ำ ถือเป็นถนนสายเศรษฐกิจที่มีความเป็นมา ที่เก่าแก่ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เคยเป็นตลาดที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพราะเป็นเมืองท่าติดกับแม่น้ำวัง ซึ่งเป็นหัวเมืองหลักของล้านนา เรียกว่าสินค้าใด ๆ ที่โดยสารมาทางน้ำ แล้วต้องการส่งต่อไปยังภาคเหนือตอนบนจะต้องมาผ่านท่าน้ำแห่งนี้ก่อน จากนั้นจึงค่อยลำเลียงไปกระจายต่อด้วยการขนส่งทางบก ผู้คนที่ทำมาค้าขายอยู่ในตลาดนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ตลาดแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกติดปากชาวเหนือว่า ตลาดจีน หรือ ตลาดเก่า จนกระทั่งมีการคมนาคมทางบกเข้ามาแทน การค้าทางน้ำจึงลดบทบาทลงไป ด้วยจิตสำนึกรักบ้านเกิดของคนในชุมชน จึงร่วมแรงร่วมใจตกแต่งบูรณะฟื้นฟูให้อาคาร บ้านเรือนเก่าๆ กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง จนกลายเป็นถนนสายวัฒนธรรมที่สวยงามมีอัตลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นตลอดระยะทางราว 600 เมตร ชวนให้หวนระลึกถึงบรรยากาศเก่าๆในอดีตเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี เปิดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. – 22.00 น. เสน่ห์ตลาดริมน้ำในวันวาน ที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาลำปาง...เมืองต้องห้ามพลาด
หมดไปแล้ว 1 วัน ลำปาง...ยังงัยๆวันเดียวก็เที่ยวไม่หมดนะคะ
โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้
วิถีชีวิตชาวตรัง ..ที่ไม่เคยห่างหาย
วิถีชีวิตชาวตรัง ..ที่ไม่เคยห่างหาย เป็นเวลาอันเนินนานมาแล้ว...ที่วิถีชีวิตชาวตรังได้ดำเนินมาเหมือนเช่นวันวาน นับตั้งแต่เมื่อดวงตะวันลิขิตจากเส้นขอบฟ้า..จวบจนเข้าสู่ราตรีกาล ทุกวันของเมืองตรังไม่เคยหลับใหล เมื่อยามอรุณรุ่ง วิถีชีวิตก็เป็นเหมือนอย่างเคย ชาวสวนยางต้องตื่นก่อนดวงตะวัน...เพื่อที่จะมากรีดยาง นำน้ำยางไปขาย หรือจะมาทำยางแผ่นก็แล้วแต่ชอบ การที่จะให้ได้น้ำยางมากๆ ก็ต้องตื่นแต่เช้าก่อนดวงตะวันขึ้น หากแม้ตื่นหลังดวงตะวันวันใด...น้ำยางที่จะได้ไปขายก็น้อยลงตามนั้น .. หรืออาจจะไม่มีรายได้ในวันนั้น ฝ่ายในตัวเมืองตรังยามอรุณรุ่ง.. บนท้องถนนก็จะมีเสียงเจื้อยแจ้วของบรรดาพ่อค้าแม่ขายชาวไทยหลากหลายเชื้อชาติ รวมไปถึงชาวไทยเชื้อสายจีนหลายเผ่าพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นฮกเกี้ยน จีนแคระ จีนไหหลำ จีนกวางตุ้งฯลฯ และอีกหลากหลายเชื้อชาติที่เริ่มออกเดินทางมาชุมนุมกันอย่างขวักไขว่ ซึ่งเมื่อเสร็จภาระกิจจ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น