ลำปาง มากี่ครั้งก็ยังไม่เบื่อ
ลำปาง ...เที่ยวเท่าไหร่ก็ไม่หมด…
บางคนอาจจะคิดว่าลำปางเป็นแค่จังหวัดเล็ก ๆ หรือเป็นแค่เมืองผ่าน…คงไม่มีอะไรน่าสนใจ….ขอบอกเลยว่าไม่.... ลำปางยังมีอะไรที่น่าสนใจอีกเยอะ...อาจจะมีคำพูดที่ว่า “...พลาดที่นี่ไปได้อย่างไรเนี่ยะ?!!”
นครลำปาง เมืองแห่งความหลากหลายทั้งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เที่ยวแบบสบายๆชิลล์ๆ...แล้วคุณจะเจออะไรที่ตื่นตาตื่นใจ และนี้แหละคือที่เที่ยวในลำปางสุดฮิปที่มานครลำปางแล้วต้องห้าม...พลาด
กาดกองต้า…
กาดแลงเสาร์-อาทิตย์...สนุกกับการตะลุย ชม ชิม ช้อป & แชร์ @กาดกองต้า ถนนคนเดินแห่งนครลำปาง
“กาด-กอง-ต้า” เป็นคำล้านนา แปลตามตัวคือ ตลาด-ถนน-ท่าน้ำ ถือเป็นถนนสายเศรษฐกิจที่มีความเป็นมาที่เก่าแก่ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เคยเป็นตลาดที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพราะเป็นเมืองท่าติดกับแม่น้ำวัง ซึ่งเป็นหัวเมืองหลักของล้านนา เรียกว่าสินค้าใด ๆ ที่โดยสารมาทางน้ำ แล้วต้องการส่งต่อไปยังภาคเหนือตอนบนจะต้องมาผ่านท่าน้ำแห่งนี้ก่อน จากนั้นจึงค่อยลำเลียงไปกระจายต่อด้วยการขนส่งทางบก ผู้คนที่ทำมาค้าขายอยู่ในตลาดนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ตลาดแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกติดปากชาวเหนือว่า ตลาดจีน หรือ ตลาดเก่า จนกระทั่งมีการคมนาคมทางบกเข้ามาแทน การค้าทางน้ำจึงลดบทบาทลงไป ด้วยจิตสำนึกรักบ้านเกิดของคนในชุมชน จึงร่วมแรงร่วมใจตกแต่งบูรณะฟื้นฟูให้อาคาร บ้านเรือนเก่าๆ กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง จนกลายเป็นถนนสายวัฒนธรรมที่สวยงามมีอัตลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นตลอดระยะทางราว 600 เมตร ชวนให้หวนระลึกถึงบรรยากาศเก่าๆในอดีตเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี เปิดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. – 22.00 น.
เสน่ห์ตลาดริมน้ำในวันวาน ที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาลำปาง...เมืองต้องห้ามพลาด
สะพานขาว...สะพานคู่แฝด...สะพานประวัติศาสตร์เมืองลำปางพลัสลำพูน...ต้องห้ามพลาด
เมื่อมาถึงลำปางสิ่งที่ไม่ควรพลาดสำหรับการแช๊ะและแชร์ คือ สะพานรัษฎาภิเศก หรือ สะพานขาว ตั้งอยู่ที่ถนนรัษฎา อำเภอเมือง เจ้าผู้ครองนครเป็นผู้ที่ตั้งชื่อจากพิธีเฉลิมฉลองรัษฎาภิเษกสมัยรัชกาลที่ 5 สะพานรัษฎาเป็นสะพานร่วมสมัยกับยุคอารยธรรมรถไฟมีอายุผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 มาแล้ว และรอดพ้นจากการโจมตีทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรมาได้ด้วยการทาสีสีดำพรางตา และด้วยการอ้างว่าสะพานแห่งนี้ไม่มีประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของนางลูซี สคาร์ลิง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวิชานารี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกองทัพสัมพันธมิตรในขณะนั้น แต่เดิมสะพานรัษฎาภิเศกเป็นสะพานไม้เสริมเหล็กชำรุดผุพัง จึงมีการก่อสร้างใหม่เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2460 เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความคงทนมากกว่าสะพานรุ่นเดียวกันที่ไม่เหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน ที่บริเวณสะพานมีเครื่องหมายไก่ขาวและครุฑหลวงสีแดงประดับไว้ตรงหัวสะพาน ส่วนอีกสะพานขาวนึง คือ สะพานขาวทาชมภู แห่งอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ปัจจุบันยังคงใช้เป็นทางสัญจรของรถไฟสายเหนือที่มุ่งตรงสู่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจแอบซ่อนตัวอยู่ในกลางหุบเขาของจังหวัดลำพูนถึง 2 แห่ง นั่นคือ อุโมงค์ขุนตาน อุโมงค์ทางรถไฟลอดผ่านที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และสะพานทาชมภู หรือ สะพานขาวชาวลำพูน
ทั้งนี้ เมื่อขบวนรถไฟแล่นออกจากลำปางไม่นานนัก รถไฟก็จะลอดผ่านอุโมงค์ขุนตาน ซึ่งเป็นจุดสูงที่สุดของเส้นทางรถไฟในประเทศไทย และเมื่อออกจากถ้ำขุนตาน ทางรถไฟจะคดเคี้ยวโค้งซ้ายโค้งขวา ลงจากเนินสูงรางเหล็กทอดผ่านท้องทุ่งนา มีขุนเขาทะมึนสีน้ำเงินเข้มเป็นฉากหลังบริเวณนี้ ก่อนที่ขบวนรถจะผ่านสะพานคอนกรีตรูปโค้งสีขาว ซึ่งหลายคนที่เห็นจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นภาพที่สวยงามมาก โดยภาพที่นักท่องเที่ยวนั่งรถไฟผ่านจะเห็นสะพานทาชมภู สะพานสีขาวที่ตั้งตระหง่าน อวดโฉมประชันความงามแข่งกับสีสันของธรรมชาติ 2 ข้างทาง… ว่าแต่อุโมงค์ขุนตาน และสะพานทาชมภู สะพานขาวของชาวลำพูน สถานที่สวยงามทั้ง 2 แห่งมีประวัติความเป็นมาอย่างไร วันนี้เรามาหาคำตอบด้วยกัน
อุโมงค์ขุนตาน เริ่มมีการก่อสร้างให้ปี พ.ศ. 2450 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2461 ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 11 ปี โดยอุโมงค์แห่งนี้เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงต้องการ ย่นระยะเวลาการเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ จากเดิมที่ใช้เวลาหลายวัน ทั้งขจัดอุปสรรคการเดินทางที่ไม่เอื้ออำนวย ในช่วงเวลาของฤดูแล้งออกไป แต่ด้วยความที่การวางรางสร้างเส้นทางไปเชียงใหม่นั้น ยังมีอุปสรรคที่สำคัญอีกอย่าง คือ เทือกเขาผีปันน้ำที่กั้นระหว่างลำปางกับลำพูน เป็นปราการธรรมชาติที่สูงชันยากที่จะทำทางรถไฟข้ามไปได้ จึงให้สร้างเป็นอุโมงค์คอนกรีตเสริมเหล็กตลอดแนว และขุดอุโมงค์ลอดเท่านั้น และเมื่อสร้างเสร็จ ก็ให้ชื่อว่า อุโมงค์ขุนตาน
ซึ่งอุโมงค์ขุนตานเป็นอุโมงค์ทางรถไฟลอดผ่านที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ด้วยมีความยาวถึง 1,352.15 เมตร ซึ่งใคร ที่อยากเข้าไปเยี่ยมชมความอัศจรรย์ของอุโมงค์ขุนตานก็สามารถเดินลอดอุโมงค์ได้ เพียงแต่ต้องเช็คเวลาการเดินรถกับเจ้าหน้าที่ของสถานีรถไฟเสียก่อนวางแผนเดินเข้าไป เพื่อความปลอดภัยอีกทั้งควรใส่รองเท้าประเภทหุ้มข้อ อย่าสวมรองเท้าแตะ เนื่องจากพื้นอุโมงค์มีสภาพชื้นแฉะเป็นบางช่วง มีธารน้ำไหลซึมผ้านผนังอุโมงค์ และควรมีไฟฉายขนาดใหญ่ ใช้กับถ่านขนาด D ติดตัวไปด้วย เผื่อส่องดูสัตว์ประเภทไม่มีขาที่อาจใช้เส้นทางเดียวกันกับเรา จะได้หลบหลีกไปคนละซีกอุโมงค์
จากคำเล่าขานของชาวเมืองลำพูนเปรียบสะพานทาชมภูแห่งนี้เสมือนเป็นน้องของอุโมงค์ขุนตาน เนื่องจากเกิดหลังจากที่สร้างอุโมงค์ขุนตานเสร็จได้ไม่นาน โดยในปี พ.ศ.2462 พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า บุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงรับสั่งให้ก่อสร้างสะพานบ้านทาชมภูต่อจากอุโมงค์รถไฟ ขุนตาน เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อให้รถไฟสามารถข้ามผ่านลำน้ำแม่ทา เมื่อสะพานทาชมภู ตัดกับท้องทุ่งและขุนเขาสีเขียวของต้นไม้ จึงทำให้นักท่องเที่ยวมองเห็นเป็นสะพานคอนกรีตรูปโค้งครึ่งวงกลมคู่ทาสีขาวสวยงาม อย่างไรก็ตาม ในระหว่างสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีเรื่องเล่ากันว่า ทหารฝ่ายพันธมิตรต้องการจะทิ้งระเบิดทำลายเส้นทางเดินรถไฟของทหารญี่ปุ่น หนึ่งในเป้าหมายนั้นมีสะพานขาวบ้านทาชมภูรวมอยู่ด้วย ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันทาสีสะพานให้เป็นสีดำ เพื่ออำพรางตาจากทหารพันธมิตร ทำให้สะพานนี้รอดจากการโจมตีทางอากาศมาจนถึงทุกวันนี้…เฉกเช่นเดียวกับสะพานรัษฎาภิเษกแห่งนครลำปาง ทำให้สะพานทั้งคู่นี้ยังคงเป็นสะพานที่ตั้งตระหง่านคู่กับเมืองลำปางและลำพูนถึงปัจจุบัน...ไม่มาไม่ได้แล้ว
บันทึกภาพหัวใจท่ามกลางไอร้อนของน้ำแร่แจ้ซ้อน
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน แหล่งท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมและเป็นแหล่งที่ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริในการใช้พลังงานน้ำธรรมชาติมาประยุกต์การดำเนินงานอย่างสอดคล้องเป็นประโยชน์
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่มและอำเภอเมืองลำปาง มีสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 592 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างลำปางและเชียงใหม่ มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติ ที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีน้ำตกและบ่อน้ำร้อนอยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งถือเป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง ฤดูที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและมีอากาศเย็นสบาย คือ เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในอุทยาน ได้แก่ บ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน เป็นแหล่งน้ำพุร้อนที่มีสภาพการเกิดทางธรณีวิทยา มีกลิ่นกำมะถันอ่อน ๆ จำนวน 9 บ่อ ตั้งอยู่รวมกันในบริเวณพื้นที่ที่ทำการอุทยานประมาณ 3 ไร่ ภายในพื้นที่มีโขดหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และมีไอน้ำลอยกรุ่นขึ้นมาจากบ่อปกคลุมรอบบริเวณ น้ำพุร้อนมีอุณหภูมิเฉลี่ย 73 องศาเซลเซียส เป็นที่นิยมนำไข่ไก่และไข่นกกระทามาแช่ สำหรับไข่ไก่แช่นานประมาณ 17 นาที ไข่แดงจะแข็งมีรสชาติมันอร่อย ส่วนไข่ขาวจะเหลวคล้ายไข่เต่า
น้ำตกแจ้ซ้อน เป็นน้ำตกที่กำเนิดจากลำน้ำแม่มอญ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีแอ่งน้ำรองรับอยู่ตลอดสาย ไหลตกลงมาเป็นชั้นๆ มี 6 ชั้น อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาน 3 กิโลเมตร มีทางเดินไปสะดวกและสามารถเดินทางจากบ่อน้ำพุร้อนไปถึงน้ำตกได้, น้ำตกแม่มอญ เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลแรงจากชะง่อนผาสูงลงสู่หุบเหวเบื้องล่าง น้ำจะตกลงมาเป็นชั้น ๆ สวยงาม ไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ, น้ำตกแม่ขุน มีลักษณะเป็นน้ำตกสายยาว สูงประมาณ 100 เมตร ไหลลงมาบรรจบกับน้ำตกแม่มอญ ต้องเดินทางจากที่ทำการอุทยาน 5 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวควรติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานนำทาง
ถ้ำผางาม ห่างจากที่ว่าการอำเภอวังเหนือ 8 กิโลเมตร อยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์ฯ ที่แจ้ซ้อน 3 (ผางาม) หน่วยนี้อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาน 60 กิโลเมตร มีถ้ำที่สามารถเข้าไปศึกษาและท่องเที่ยวได้ เช่น ถ้ำฟ้างาม ถ้ำน้ำ ถ้ำหม้อ เป็นต้น, ชมดอกเสี้ยวบาน ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี ดอกเสี้ยวจะบานเต็มผืนป่า นักท่องเที่ยวสามารถขับรถชมดอกเสี้ยวบานได้ตามเส้นทางแจ้ซ้อน-บ้านป่าเหมี่ยง เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร, แอ่งน้ำอุ่น อยู่ติดกับบ่อน้ำพุร้อน เป็นแอ่งน้ำที่เกิดจากการไหลมาบรรจบกันของน้ำพุร้อนและน้ำเย็นที่มาจากน้ำตกแจ้ซ้อน ทำให้เกิดเป็นน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิเหมาะแก่การแช่เป็นที่สุด
ห้องอาบน้ำแร่ มีทั้งห้องอาบแร่ สำหรับ 3-4 คน ห้องรวมแบบตักอาบและบ่อสำหรับแช่อาบกลางแจ้ง น้ำแร่ที่ใช้ต่อท่อโดยตรงมาจากบ่อน้ำพุร้อน มีอุณหภูมิน้ำแร่ประมาณ 39-42 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถใช้แช่อาบได้ ประโยชน์ของการอาบน้ำแร่ คือ ช่วยบำบัดความเมื่อยล้าของร่างกาย ช่วยให้ระบบไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น ช่วยรักษาโรคผิวหนังบางชนิดได้ เช่น กลาก เกลื้อน ผื่นคัน และยังช่วยบรรเทาอาการของโรคกระดูก แต่น้ำแร่จากที่นี่ไม่สามารถใช้ดื่มได้เพราะมีแร่ธาตุบางชนิดสูงกว่ามาตรฐาน
นอกจากนี้อุทยานได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติไว้ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกแจ้ซ้อน ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 1.30 ชั่วโมง ผ่านจุดสื่อความหมาย 24 จุด ผ่านสภาพป่าและพรรณไม้ที่น่าสนใจหลายชนิด รวมถึงอาจพบสัตว์หายาก และเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกแม่เปียก ระยะทางประมาณ 3.7 กิโลเมตร เป็นเส้นทางวงรอบเลียบริมห้วยแม่เปียก ผ่านจุดสื่อความหมาย 19 จุด ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2.30 ชั่วโมง ตลอดเส้นทางให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ
ไหว้พระ เสริมบุญ สร้างบารมี
มหัศจรรย์เงาพระธาตุกลับหัว
วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ ตามตำนานกล่าวว่า มีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย งดงามด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่มากมาย ได้แก่
พระธาตุลำปางหลวง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู ด้วยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลูเช่นกัน ฐานเป็นบัวลูกแก้ว ส่วนองค์เป็นทรงกลมแบบล้านนาภายนอกบุด้วยทองจังโก ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ มีลายสลักดุนเป็นลวดลายประจำยามแบบต่าง ๆ ลักษณะเจดีย์แบบนี้ได้ส่งอิทธิพลต่อพระธาตุหริภุญไชย และพระบรมธาตุจอมทอง ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเกศาและพระอัฐิธาตุจากพระนลาฎข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง ที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระธาตุมีรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศปรากฏอยู่
วิหารหลวง วิหารขนาดใหญ่ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2019 โดย เจ้าหมื่นคำเป๊ก ภายในมีซุ้มปราสาททองเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง ด้านหลังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ บนแผงไม้คอสองมีภาพจิตรกรรมเก่าแก่งดงามเรื่องทศชาติและพรหมจักร
วิหารพระพุทธ ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี เดิมเป็นวิหารเปิดโล่งหน้าบันเป็นลายดอกไม้ติดกระจกสี ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่เต็มอาคารก่ออิฐถือปูน ศิลปะเชียงแสน และยังปรากฏเงาพระธาตุภายในวิหารอีกด้วย
เมื่อหันหน้าเข้าหาวิหารหลวง ด้านขวามือ คือ วิหารน้ำแต้ม หรือวิหารภาพเขียนสี (แต้ม แปลว่า ภาพเขียน) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2044 เป็นวิหารเปิดโล่งที่เก่าแก่ที่สุดอีกหลังหนึ่งทางภาคเหนือ คงรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม ภายในไม่มีฝ้าเพดาน กำแพงด้านพระประธานเขียนภาพลายทองบนพื้นรักแดง มีภาพจิตรกรรมศิลปะล้านนาบนแผงไม้คอสองที่กล่าวกันว่าเก่าแก่ที่สุด และหลงเหลือเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา แต่ปัจจุบันภาพเขียนลบเลือนไปมาก และประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1.25 เมตร สูง 1.25 เมตร
ซุ้มพระบาท สร้างครอบพระพุทธบาทไว้ ฐานก่อขึ้นเป็นชั้นคล้ายฐานเจดีย์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 1992 ภายในมองเห็นแสงหักเห ปรากฏเป็นเงาพระธาตุและพระวิหารในด้านมุมกลับ แต่มีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้น
กุฏิพระแก้ว เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างเมื่อใด แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี มาแล้ว
วิหารพระเจ้าศิลา เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าศิลาซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้ เมื่อ พ.ศ. 1275 พระบิดาของพระนางจามเทวีมอบให้ประดิษฐานไว้ ณ ที่นี
พิพิธภัณฑ์ รวบรวมศิลปวัตถุจากที่ต่าง ๆ ที่หาชมได้ยาก เช่น สังเค็ด ธรรมาสน์ คานหาบ ตู้พระไตรปิฎก เป็นต้น
นอกจากนี้วัดพระธาตุลำปางหลวงยังเป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้า (พระแก้วมรกต)พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะล้านนาสลักด้วยหยกสีเขียว มีงานนมัสการพระแก้วดอนเต้าในวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม
วัดเก่าแก่และสวยงาม มีอายุนับพันปี เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตั้งแต่ พ.ศ. 1979 เป็นเวลานานถึง 32 ปี เหตุที่วัดนี้ได้ชื่อว่า วัดพระแก้วดอนเต้า มีตำนานกล่าวว่า พระมหาเถระแห่งวัดนี้ได้พบแก้วมรกตในแตงโม (ภาษาเหนือเรียกว่า หมากเต้า) และนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ต่อมาจึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวงจนถึงปัจจุบัน
ปูชนียสถานที่สำคัญในวัดพระแก้วดอนเต้า ได้แก่ องค์พระบรมธาตุดอนเต้า พระเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า, วิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ที่มีอายุเก่าแก่พอ ๆ กับวัดนี้ นอกจากนี้ยังมีวิหารหลวงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย วิหารพระเจ้าทองทิพย์ สร้างโดยพระนางจามเทวี อายุกว่า 1,000 ปี ประดิษฐานพระเจ้าทองทิพย์ศิลปะสมัยเชียงแสน, มณฑป หรือพญาธาตุศิลปะแบบพม่า วิหารลายคำสุชาดาราม ฝีมือช่างเชียงแสน ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังลวดลายทองงดงาม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเชียงแสน และยังมี พิพิธภัณฑสถานแห่งล้านนา อันเป็นแหล่งรวบรวมศิลปวัตถุแบบล้านนา เช่น สัตภัณฑ์ เครื่องถ้วยกระเบื้อง พระพุทธรูป เป็นต้น
วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ เดิมชื่อ "วัดพระพุทธบาทปู่ผาแดง" ตั้งอยู่ที่ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ความโดดเด่นของสถานที่แห่งนี้อยู่ที่ ภาพอันงดงามของเจดีย์เล็ก ๆ สีขาว สร้างขึ้นบนภูเขาสูงเฉียดฟ้า และล้อมรอบไปด้วยภูเขาสูง เป็นภาพดึงดูดทีใครหลายคนอยากที่จะมาเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้ง ภายในบริเวณวัดด้านล่าง เป็นที่ตั้งของตัว "วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์" เมื่อมาถึงยอดเขาด้านบน จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือฝั่งทางขวาจะได้ขึ้นไปนมัสการองค์พระธาตุ ซึ่งต้องเดินขึ้นบันไดเล็กๆ ชันๆ ขึ้นไป แต่วิวด้านบนนั้นงดงามเป็นอย่างยิ่ง
Play & Learn เพลินเพลิน@ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย และสวนป่าทุ่งเกวียน
ไม่ไปไม่ได้แล้ว...ใครผ่านไปมาถนนสายลำปาง-เชียงใหม่...หากไม่แวะที่นี่...ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยแล้วจะแวะที่ไหน...ศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งเกวียน ตำบลเวียงตาล อยู่ในความดูแลของอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) แต่เดิม ออป. เป็นศูนย์ฝึกลูกช้างแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 เป็นสถานที่เลี้ยงและฝึกลูกช้างเพื่อให้เชื่อฟังคำสั่งและมีความชำนาญในการทำไม้ขณะที่แม่ช้างไปทำงานในป่า และเนื่องจากมีนโยบายปิดป่าซึ่งทำให้ช้างต้องว่างงาน ศูนย์ฝึกลูกช้างจึงถูกปรับมาเป็นสถานที่ดูแลช้างแก่และเจ็บป่วย และที่นี่ยังเป็นสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลช้างด้วย ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 ออป. ได้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยขึ้น และจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้แก่
- การแสดงช้างอาบน้ำ ณ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยมีทั้งหมดสองรอบทุก ๆ วัน รอบเช้า 09.45 น. และรอบบ่าย 13.15 น. โดยมีช้างจำนวน 15 เชือก ลงอาบน้ำอย่างพร้อมเพียงกัน หลังจากนั้นช้างทั้งหมดจะถือหางของแต่ละเชือกและเดินทางเข้าสู่ลานแสดง
- การแสดงช้างของศูนย์อนุรักษ์ มี 3 รอบ ได้แก่ รอบแรกเวลา 10.00 น. รอบที่สองเวลา 11.00 น. และรอบสุดท้ายเวลา 13.30 น. โดยใช้ช้าง 15 เชือกในการแสดง และใช้เวลาประมาณ 40 นาที
- กิจกรรมโฮมสเตย์ เป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยเป็นแห่งแรกในเมืองไทยที่นำนักท่องเที่ยวขึ้นขี่บน คอช้าง และสอนให้รู้จักทักษะเบื้องต้นในการขี่ช้าง เช่น เทคนิคการควบคุมช้าง และใช้ภาษาคำสั่งช้าง โดยใช้ช้างจำนวน 12 เชือกในกิจกรรมนี้ ซึ่งเป็นช้างที่มีความฉลาดและนิสัยดี และช้างเหล่านั้นเป็นช้างที่ทำงานเป็นช้างแสดงในการแสดงช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย (ราคาดูได้ที่ thailandelephant.org)
- กิจกรรมขี่ช้างท่องไพรจะเหมือนกับโปรแกรมขี่ช้างแบบโฮมสเตย์ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้รับช้างหนึ่งเชือกต่อหนึ่งคนแต่จะมีความแตกต่าง อย่างแรก คือ กิจกรรมเดินป่าจะใช้ช้างจำนวน 12 เชือก ซึ่งช้างเหล่านั้นจะทำหน้าที่เป็นช้างที่ให้บริการนั่งช้างชมธรรมชาติ สองกิจกรรมเดินป่านักท่องเที่ยวจะหัดฝึกขี่ช้างในพื้นที่ของโรงเรียนฝึกควาญช้าง ซึ่งอยู่ทางใต้ของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งอยู่คนละส่วนกับการแสดงช้างและโฮมสเตย์และนักท่องเที่ยวทั่วไป (ราคาดูได้ที่ thailandelephant.org)
อัตราค่าธรรมเนียมค่าเข้าชมการแสดงช้าง
- นักท่องเที่ยวชาวไทย ผู้ใหญ่ อัตรา 100 บาท/คน (พร้อมค่านั่ง 25 บาท) เด็ก (สูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร) อัตรา 50 บาท/คน (พร้อมค่านั่ง 10 บาท)
- นักท่องเที่ยวต่างชาติ ผู้ใหญ่ อัตรา 200 บาท/คน เด็ก (สูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร) อัตรา 150 บาท/คนอัตราค่าบริการนั่งช้างชมธรรมชาติ 10 นาที 100 บาท (ต่อช้างหนึ่งเชือกนั่งได้สองคน) สำหรับต่างชาติ 200 บาท 30 นาที 500 บาท (ต่อช้างหนึ่งเชือกนั่งได้สองคน) ราคานี้สำหรับทั้งคนไทยและต่างชาติ
มาลำปางทั้งที ต้องนั่งรถม้าชมเมือง...ความมีเสน่ห์ของเมืองที่ไม่เคยหลับ
จากบทเพลงนครลำปาง เมืองแห่งความสุข.. ลัน ลัน ลัน ละ ลัน ลัน ลา .. ลั่น ลัน ลัน ละ ลัน ลัน ลา … ลั่น ลัน ลัน ละ ลัน ลัน ลา … ลัน ลัน ลัน ละ ลัน ลัน ลา เมืองลำปางนี่ช่างสุขใจ อุ่นไอรักล่องลอยจนเต็มฟ้า มองไปทางไหนก็มีผู้คนเขายิ้มมา ช่างสุขตาเพลินอุราที่เมืองลำปาง รถม้าพาเที่ยวมันวิ่ง กั๊บ กั๊บ ดัง กั๊บ กั๊บ ไพเราะเสนาะหู ยินดียิ่งแล้ว ได้มาเยือนได้มาอยู่ ความสุขพลั่งพลู ไม่มีวันไดจะลบเลือน ถิ่นเมืองลำปาง เมืองเขลางค์นคร ความสุขทุกตอน ไม่ว่าวันไหนก็ไม่มีวันจางหาย จะมีเธอและฉัน มิตรไมตรีที่เราผูกพัน กันเสมอไป สุขล้นใจไม่มีวันจาง นครลำปางเมืองแห่งความสุข จั๊ด จ๊า ดี ด้า ดี ดา ดี ดา จ่า ดี ดัด จั๊ด จ่า ดี ดั๊ด จา จั๊ด จ่า ดี ดั๊ด จ่า ดี ดา ดี ดั๊ด จา จั๊ด จา ดี ดา ดี ดั๊ด จา สายน้ำหล่อเลี้ยงก็คือแม่วัง จากความหลังหนึ่งพันสามร้อยกว่าปีผ่านมา วัดวาอารามช่างเลิศล้ำตระการตา ขอพรนำพาให้เมืองลำปางนั้นมีความสุข ถิ่นเมืองลำปาง เมืองเขลางค์นคร ความสุขทุกตอน ไม่ว่าวันไหนก็ไม่มีวันจางหาย จะมีเธอและฉัน มิตรไมตรีที่เราผูกพัน กันเสมอไป สุขล้นใจไม่มีวันจาง นครลำปางเมืองแห่งความสุข นครลำปางเมืองแห่งความสุข..
จังหวัดลำปาง หรือ นครลำปางหรือเขลางค์นครหรืออาลัมภางค์และชื่ออื่นๆอีกมากมาย มีมรดกจากอดีตที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ที่คอยดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มอายุ และยังแสดงถึงความมีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และไม่เสื่อมสลายหายไป นั่นก็คือ “รถม้า" ในอดีตที่ผ่านมารถม้ามีบทบาท เปรียบเสมือนพระเอกแห่งนครลำปาง มีทั้งรูปปั้นอยู่ใจกลางเมือง ที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องขนาดความใหญ่ยาวของม้า (ตอนนี้ไม่มีใหญ่ยาวแล้ว) มีคนขับรถม้าที่แต่งตัวสไตล์เวสเทิร์นคาวบอย มีรถม้าที่เรียกกันว่ารถม้าแท็กซี่ คอยรับผู้โดยสารจากสถานีรถไฟเข้าสู่ตัวเมือง ทั้งไปรับพัสดุภัณฑ์จากสถานีรถไฟมาส่งที่ทำการไปรษณีย์ เป็นรถรับส่งนักเรียน ขนของให้พ่อค้าแม่ค้าเรื่อยไปจนถึงพาคนเจ็บไปโรงพยาบาล แต่ปัจจุบันรถม้าลำปางไว้มีเพื่อบริการนักท่องเที่ยวเพื่อนั่งชมเมืองเท่านั้น สำหรับราคาค่าโดยสารรถม้า มี 3 อัตรา คือ รอบเมือง เล็ก 150-200 บาท (25-30 นาที) รอบเมืองกลาง 200-300 บาท (45 นาที-1 ชั่วโมง) รอบเมืองใหญ่ 500 บาท (1.30 – 2 ชั่วโมง) หรือเช่าชั่วโมงละ 300-400 บาท คิวจอดรถม้าอยู่ที่หน้า ศาลากลางหลังเก่า (มิวเซียมลําปาง)บริการระหว่างเวลา 05.00-20.00 น. และหน้าโรงแรมลำปางเวียงทอง บริการระหว่างเวลา 05.00-21.00 น.
หากเช่าเป็นชั่วโมง นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเส้นทางชมเมืองได้ตามความต้องการ เช่น ข้ามแม่น้ำวังบนสะพานรัษฎาภิเศก ชมบ้านเสานัก ชมวัดพระแก้วดอนเต้า และวัดต่างๆ และนมัสการหลวงพ่อเกษม เขมโก หรือจะเป็นเส้นทางชมย่านตลาดจีนบนถนนตลาดเก่า ซึ่งเป็นถนนเศรษฐกิจในอดีตที่ยังคงสภาพอาคารตึกแถวแบบโบราณไว้ทั้งสองฟาก บ้านเก่าหลายหลังมีลวดลายไม้ฉลุที่งดงาม ชมสถานีรถไฟที่เป็นอาคารแบบโบราณ แวะถ่ายภาพที่ห้าแยกหอนาฬิกาและอาจจะแวะซื้อผลิตภัณฑ์เซรามิคบริเวณหน้า โรงเรียนเทศบาล 4 ที่อยู่ใกล้ๆกับหอนาฬิกา ซึ่งมีให้เลือกหลายร้าน สำหรับช่วงเวลาที่คลาสสิคสุดๆในการนั่งรถม้าชมเมืองลำปาง คือช่วงใกล้ๆตะวันจะตกดิน เพราะได้ชมบรรยากาศความสว่างที่จางลงไปกับความเงียบมืดมิด ผ่านแสงไฟสลัวๆยามค่ำคืน เพลิดเพลินไปกับบรรยากาศวิถีชีวิตของคนเมืองเหนือที่ปราศจากความเร่งรีบ ที่หาไม่ได้ในเมืองกรุง
หากท่านได้มารู้จักแล้วท่านจะหลงรักเมืองลำปาง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น